มนุษย์แทบทุกคนในโลกนี้ล้วนกลัวตาย ความกลัวตายมันคอยข่มขู่ มันทำให้เราเป็นอัมพาตทำอะไรไม่ถูก ใช่ครับ..ความกลัวตายถือเป็นต้นตอความทุกข์ใหญ่ที่สุดของมนุษย์ โดยความกลัวตายนี้ถ้ามันไม่ทำให้เราตื่นในตอนกลางคืน มันก็ปลุกเราในยามตื่นอยู่ดี และยิ่งเราหวาดกลัวมันมากเท่าไหร่ เราก็จะทุกข์มากตามเท่านั้นครับ
จริงอยู่ที่เรารู้ว่า ทั้ง ๆ ที่ ความตายเป็นสิ่งที่แน่นอนมากสำหรับพวกเราทุกคน ไม่มีอะไรที่ชัวร์ที่แน่นอนเท่ากับยังไงซะเราก็ต้องตายแน่ ๆ แต่การไม่รู้ว่าอะไรรออยู่หลังจากความตาย ความไม่รู้นี่แหละที่กลายเป็นความทุกข์ที่คอยทรมานจิตใจของมนุษย์ทุกยุคทุกสมัย
ถึงกระนั้น ก็มีนักปราชญ์ของสโตอิก มองความตายในมุมที่แตกต่างออกไป โดย Epictetus กล่าวไว้ว่า “ความตายและความเจ็บปวดไม่ได้น่ากลัว แต่เป็นความกลัวต่อความเจ็บปวดและความตายที่เราจำเป็นต้องกลัว” เขาแนะนำให้เรากำหนดคุณค่าของความตายใหม่ ถ้าเรามีมุมมองที่เปลี่ยนไป การปรับความคิดใหม่ จะช่วยให้เราจะไม่ต้องทุกข์เพราะกลัวความตายอีกต่อไปครับ
เคล็ดลับของสโตอิกที่เอามาประยุกต์ใช้ ในการเอาชนะความกลัวตายคือ 1) การรับรู้ 2) การกระทำ และ 3) เจตจำนง
ทั้งสามหลักต้องพึ่งพาอาศัยกัน เชื่อมโยงกัน และทำอย่างลื่นไหลอย่างลื่นไหลเท่านั้นถึงจะได้ผลดี อันจะช่วยลดความทุกข์จากการกลัวตายได้
- การรับรู้ พวกสโตอิกใช้เวลาและพลังงานเป็นจำนวนมากในการคิดและพยายามควบคุมการรับรู้ของพวกเขา เพราะการรับรู้เป็นตัวกำหนดพฤติกรรม หากการรับรู้ของเรามัวหมอง ระบายสีด้วยเรื่องไร้สาระ เช่น ความกลัว ความวิตกกังวล การขาดความมั่นใจ ความกังวลใจ ชีวิตของเราก็จะเต็มไปด้วยความทุกข์ใจ เราสามารถสร้างกระบวนการรับรู้นลักษณะเดียวกับที่สร้างนิสัย โดยอุปนิสัยเกิดจากการฟัง ฝึกฝน พูดสิ่งเดียวกันวันแล้ววันเล่า เช่นเดียวกัน การรับรู้จะฝังแน่นผ่านการคิดและการฝึกฝนซ้ำๆ
- การกระทำ การรับรู้คือวิธีที่เราตีความความตายใหม่ การกระทำคือสิ่งที่เราทำกับมัน คุณกำลังทำอะไรเกี่ยวกับความกลัวนี้? ปล่อยให้มันทรมานคุณทำให้คุณต้องเป็นทุกข์เหรอ? คุณแค่ผลักมันออกจากความคิดไปก่อนแล้วมันจะกลับมาอีกครั้งหรือไม่? คำถามเหล่านี้จะช่วยดึงสติเราให้แน่วแน่ในการกระทำเพื่อให้ “เอาชนะความกลัวของคุณ” เช่น
- ถ้าเราเฉยเมยต่อความตาย มันจะกลายเป็นเงาร้ายที่จะแข็งแกร่งขึ้น เข้มขึ้น แล้วมันอาจทำให้เราเป็นอัมพาตเมื่อต้องเผชิญหน้ากับมัน โอเคล่ะ…เราไม่ชอบคิดเกี่ยวกับมัน เราไม่ชอบพูดถึงมัน เราไม่กล้าจินตนาการว่ามันเกิดขึ้นกับเรา แต่การเปิดหน้าเพื่อเผชิญหน้ากับมัน ยอมรับว่ามันมีจริงสิ่งที่เราควรจะทำ นั่นคือสิ่งที่เราทำกับมัน
- เราจะไม่ปล่อยให้มันอ้อยอิ่งอยู่เหนือเราอีกต่อไป อย่าปล่อยให้การทุกข์ทรมานจากความตายวนเวียนมาและไปตามที่ใจต้องการ ต่อไปนี้เราจะเปิดตาจ้องมองมัน เราใช้มันเพื่อสร้างจูงใจ ไม่ใช่ทำให้เรากลัว
- เราจะนึกถึงความตายเป็นกิจวัตร มันไม่ใช่การปฏิบัติที่ผิดปกติ แต่มันเป็นสิ่งที่สมควรทำต่างหากเล่า การทรมานจากความตายส่วนใหญ่มาจากความขัดแย้งหลายชั้นที่ถึงแม้จะเป็นความไม่แน่นอนที่ยิ่งใหญ่ของชีวิต แต่ก็เป็นความจริงที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในชีวิตที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เรามั่นใจว่ามันจะเกิดขึ้น แต่เราแค่ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่ อย่างไร หรืออะไรจะตามมาแค่นั้นเอง การยอมรับมันเป็นกิจวัตร ช่วยลดความเครียดกังวลเกี่ยวกับความตายได้ ใช่ครับชาวสโตอิก ปลดล็อคกุญแจสู่ความสุข ขจัดความกลัวตายไม่ใช่การเพิกเฉย แต่ด้วยการจ้องหน้ามันทุกวัน
- เจตจำนง ชาวสโตอิกแบ่งเจตจำนงออกเป็น ภายใน กับ ภายนอก
- ภายนอกเป็นเพียงตรงกันข้าม สิ่งภายนอกคือสิ่งที่เราไม่สามารถควบคุมได้
- ภายในเป็นเพียงสิ่งที่เราควบคุมได้ เช่น การรับรู้และการกระทำ สิ่งเหล่านี้เป็นทั้งทางเลือกที่เราควบคุม
- โดยเจตจำนงจะตัดสินทัศนคติของเราต่อสิ่งที่ไม่อยู่ในการควบคุมของเรา สิ่งที่เกิดขึ้นกับเรา
- ดู ๆ แล้วมันก็ค่อนข้างคล้ายกับการรับรู้และการกำหนดใหม่ว่าเรามองความตายอย่างไร เจตจำนงไม่เพียงแค่มีมุมมองใหม่ แต่ยังยอมรับว่าความตายคือสิ่งที่จักรวาล ธรรมชาติ มีไว้สำหรับเรา
Epictetus กล่าวถึง “ศิลปะแห่งการยอมจำนน” คือยอมจำนนต่อธรรมชาติ มันทำให้วัฏจักรของจักรวาลดำเนินไปตามวิถีของมันโดยไม่ต้องต่อสู้หรือสาปแช่งมัน อันที่จริงมันเป็นมากกว่าการยอมรับ มันคือการค้นหาความสงบในธรรมชาตินั้นคือการทำสิ่งที่เหมาะสม
ซิเซโรก็พูดทำนองเดียวกันและพูดตรงๆ ว่าการกลัวความตายนั้นค่อนข้างโง่เขลา “คนที่น่าสงสารจริงๆ คือคนที่อายุยืนยาวไม่ได้เรียนรู้ว่าความตายไม่มีอะไรต้องกลัว”
สรุป เคล็ดวิชาเอาชนะความกลัวตาย สูตรสโตอิก สั้น ๆ
- การกระทำ – ตีความ ความหมายของความตายใหม่
- การรับรู้ – เผชิญหน้ากับความตาย ทำให้มันอยู่ใกล้ตัวมากขึ้น
- เจตจำนง – ยอมรับ ยอมจำนน เลี่ยงไม่ได้
เพราะฉะนั้น อย่าเอาความกลัวตายมาเป็นความทุกข์เลยครับ มันเป็นสิ่งที่ยังไงซะก็ต้องเกิด อะไรจะเกิดก็ต้องเกิด ยิ่งห้าม ยิ่งกลัวก็ยิ่งทุกข์ สิ่งที่สโตอิกแนะนำจึงเป็นสิ่งที่ถูกต้องและเหมาะสมแล้วครับ ตอนนี้มันขึ้นอยู่กับว่าใครจะเอาไปปรับใช้แล้ว ถ้าทำได้คุณก็จะขจัดความทุกข์เกี่ยวกับความกลัวตายไปได้เด็ดขาด แต่ถ้าทำไม่ได้คุณก็จะอมทุกข์นี้ไว้ตราจนตายจริงแน่นอนครับ
ขอจบด้วยประสบการณ์ของตัวเองครับ ผมเคยกลัว (ตอนนี้ก็ยังคงกลัว – แต่ลดดีกรีความกลัวลงไปเยอะมาก)
จุดเปลี่ยนสำคัญที่ลดความกลัวตาย คือ การได้เฝ้าคุณแม่ที่เป็นมะเร็งระยะสุดท้าย และปล่อยท่านให้จากไปอย่างสงบ
หลังจากวันนั้น มุมมองของผมเปลี่ยนไปเลย ผมกลับมาตั้งคำถามและให้ความสนใจเรื่องเรื่องความตายอีกครั้ง
พบว่ามันเป็นเรื่องที่เราหนีไม่ได้ แม้จะพยายามฝืนเท่าไหร่ก็ตาม
ล่าสุดไปเจอคำสอนของปรัชญาสโตอิก ก็ยิ่งรู้สึกและมองว่าความตายเป็นเรื่องที่ไม่ควรกังวลอะไรเลย
สโตอิกและนักบวชตะวันตก เขามีคำพูดสื่อสารกันทุกวันว่า Memento mori (เป็นสำนวนภาษาละติน) “สักวัน ท่านต้องตาย”
เขามีการนึกถึงความตายอยู่ตลอดขณะจิต ให้ความตายเป็นเรื่องที่อยู่ในกิจวัตรประจำวันไปเลย
พอเราระลึกถึงความตาย เราจะโฟกัสกับปัจจุบันมากขึ้น
เขาบอกว่าถ้าเราอยู่กับปัจจุบัน เราจะลดความทุกข์จากความคิดฟุ้งซ่านได้มหาศาลเลย (จริงมาก ๆ)
แนะนำหนังสือที่ช่วยให้เราเข้าใจและลดความกลัวตายได้
- Ichigo Ichie ละเลียดปัจจุบัน ดื่มด่ำชีวิต – ชี้ให้เห็นประโยชน์ของปัจจุบัน
- The Power of Now พลังแห่งจิตปัจจุบัน – ชี้ให้เห็นประโยชน์ของปัจจุบัน
- สโตอิก ปรัชญาเสริมแกร่งเพื่อชีวิตไม่สั่นคลอน
- CHATTER คุมเสียงในหัวได้ชีวิตง่ายทุกเรื่อง – ชี้ให้เห็นความไร้สาระของความคิดฟุ้งซ่าน และวิธีบริหารจัดการมัน